นิกร การุณวงศ์  

best viewed with 640*480 and MSIE
 
 
 
 





 

ป. อินทรปาลิตในสายตาของ ส. บุญเสนอ


ที่มา: ต่วยตูน ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2530 ปีที่ 16
  คอลัมน์ ตามรอยลายสือไทย
  ส. บุญเสนอ
พิมพ์โดย: คุณ Kaii สมาชิกหมายเลข 27
   

คัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาติเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา


สมัยหนึ่งบุคคลชื่อ ป. มีชื่อเสียงโด่งดังติดปากคนทั่วไปสามคน คือ จอมพล ป.
พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี, นาย ป. อินทรปาลิต นักเขียน และนายปอ เจ้าของ
ร้านกาแฟนมสด

ป. อินทรปาลิต

คราวหนึ่งเพื่อนผมไปธุระติดต่อเรื่องงานเขียนภาพกับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง
บังเอิญวันนั้นผมร่วมทางไปด้วย ที่สำนักงานแห่งนั้นผมเห็นนวนิยายชุด พล,
นิกร, กิมหงวนของ ป.อินทรปาลิตหลายสิบเรื่องตั้งเป็นกองๆ เรียงรายอยู่
เต็มห้องเก็บหนังสือ ผมหยิบขึ้นมาพิจารณาดูหลายเล่มก็เห็นว่าเป็นหนังสือ
พิมพ์ใหม่เอี่ยมทั้งสิ้น ผมสอบถามดูได้ความว่าเป็นการพิมพ์ครั้งล่าสุดโดย
สำนักนี้เช่าลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ที่ถือลิขสิทธิ์ดั้งเดิม ชุดแรกรุ่นนี้ที่พิมพ์เสร็จ
เรียบร้อยแล้วจำนวนห้าสิบเรื่อง

ป. อินทรปาลิตถึงแก่กรรมไปแล้วเกือบยี่สิบปี แต่บทบาทตัวละครสามเกลอ
ของเขายังมีชีวิต มีนักอ่านรุ่นใหม่นิยมเรื่องหรรษาของ ป. อินทรปาลิต
สืบต่อกันมาหลายสมัย ได้เห็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นใหม่เหล่านี้ทำให้ผมระลึกถึง
คุณปรีชาผู้ชอบพอกันมาเป็นเวลานานหลายสิบปี และขอเขียนถึงเขาอีกครั้ง
หลังจากเขียนไว้ในหนังสือ "อนุสรณ์ ป. อินทรปาลิต" เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒

คุณปรีชาเริ่มเป็นนักเขียนอาชีพด้วยเรื่อง "นักเรียนนายร้อย" ที่สำนัก
เพลินจิตต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่เป็นนักเขียนสมัครเล่นเขียนเรื่องสั้นลงพิมพ์ใน
นิตยสารต่างๆ มาก่อนแล้วหลายสนาม ที่ผมจำได้แม่นคือเรื่อง "ใจนักรบ"
ลงพิมพ์ในหนังสือภาพยนตร์ชุดรายปักษ์ของนาย ต. เง็กชวน เรื่องแรกของ
คุณปรีชานับได้ว่าประสบความสำเร็จ นอกจากขายดีแล้วยังได้รับจดหมายชมเชย
จากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเรื่อง "ยอดสงสาร", "เมียขวัญ", "เรียมจ๋า",
"ผู้รับบาป", "หนามเตย" และอื่นๆ ทยอยติดตามมารวดเร็ว และเป็นนักเขียน
ประจำของเพลินจิตต์ตั้งแต่นั้น

สมัยนั้นนวนิยายประเภทรักโศกมีผู้นิยมเขียนกันมาก ไม่ว่าคณะไหนมัก
นำหน้าด้วยเรื่องประเภทนี้ คุณมนัส จรรยงค์แนะนำให้คุณปรีชาลองเขียนเรื่อง
ประเภทตื่นเต้นผจญภัยบ้าง คุณปรีชาจึงทดลองด้วยเรื่อง "ตำรวจสันติบาล"
และต่อด้วยเรื่องอื่นๆ อีกมาก ผมจำไม่ได้ว่าอะไรทำให้คุณปรีชาเปลี่ยนแนว
ไปเขียนตลก ดูเหมือนเพื่อนคนหนึ่งกระเซ้าว่าเขาเขียนเรื่องตลกไม่เป็น
คุณปรีชาเชื่อว่าเขาทำได้ จึงได้ลองทำดู ตัวละครชุดพล, นิกร, กิมหงวน
ถือกำเนิดขึ้นมาในเรื่อง "อายผู้หญิง" ที่คณะเพลินจิตต์ และเรื่องอื่นๆ ตามมา
หลายเรื่อง ปรากฏว่าได้รับความนิยมยิ่งกว่าแนวเดิม ทั้งเป็นที่ถูกอัธยาศัย
ผู้แต่งด้วย คราวนี้นามปากกาของคุณปรีชาเป็นพลุทีเดียว

สมัยโน้นนักเขียนต้องเขียนกันจริงๆ ไม่มีเครื่องพิมพ์ดีดใช้กันหรอก จะเขียน
ด้วยดินสอหรือปากกาจิ้มหมึกก็แล้วแต่ตามถนัด ปากกาหมึกซึมเพิ่งจะมีใช้
น้อยคน นักเขียนที่ใช้พิมพ์ดีดก็มีแต่ผู้เป็นข้าราชการหรือเสมียนตามห้าง
ซึ่งพอจะแอบใช้ของหลวงหรือของห้างพิมพ์ต้นฉบับ เครื่องพิมพ์ดีดแบบ
กระเป๋าหิ้วเพิ่งจะมีใช้เมื่อหลังสงคราม

ครั้งนักเขียนยังสำแดงลายมือของตนเองทำต้นฉบับ คุณปรีชาชอบปากกา
คอแร้ง เขียนอ่านง่ายลายมือเรียบเสมอต้นเสมอปลาย มีน้อยคนที่ทำได้อย่าง
คุณปรีชา โดยมากเขียนสวยหน้าแรกๆ พยายามปั้นตัวอักษรอ่านง่ายอยู่หรอก
ต่อมาก็ค่อยๆ ยุ่งเหมือนยุงตีกัน บางร้ายตอนท้ายๆ เขียนหวัดจนอ่านลายมือของ
ตัวเองไม่ออกต้องค่อยๆ แกะรอยอ่านข้อเขียนของตน

จดหมายเชิญไปถึง ส. บุญเสนอ เขียนด้วยลายมือของ
ป. อินทรปาลิตเอง

คุณปรีชาเขียนเรื่องได้เร็วและขยัน จึงมีเรื่องพิมพ์มากกว่าใครๆ ในยุค
เดียวกัน ผมไม่ทราบจำนวนเรื่องทั้งหมดที่เขาแต่งไว้แต่พอประมาณได้ว่านับกัน
เป็นร้อยๆ หลายหนทีเดียว แต่ลิขสิทธิ์เป็นของคนอื่นทั้งหมด มีสำนักพิมพ์
หลายแห่งได้กรรมสิทธิ์บทประพันธ์ของเขา และซื้อราคาแพงกว่าของคนอื่น
ด้วยมั่นใจว่าอย่างไรเสียคงได้พิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง จึงกล้าลงทุนล่วงหน้าเอาไว้
และก็ได้ผลสมจริงดังคาด หากเบื่อจะพิมพ์ซ้ำก็ออกตัวขายต่อหรือให้เช่า
เอากำไรก็ยังได้ แต่การซื้อลิขสิทธิ์มิใช่ซื้อกันสุ่มสี่สุ่มห้า เขาเลือกเจาะจง
จำเพาะเป็นรายๆ ไป เรื่องการตลาดนี้สำนักพิมพ์เขารู้ดี

วิธีการซื้อขายลิขสิทธิ์บทประพันธ์ที่กระทำกันค่อนข้างจะแปลกสักหน่อย
มิใช่เลือกซื้อกันเป็นเรื่องๆ ต้องเหมาหมดเป็นปีๆ ยากจะเข้าใจจึงต้องอธิบาย
พอสมควร หมายความว่าคุณปรีชาเขียนอะไรไว้บ้างตลอดพ.ศ.นี้ ไม่ว่าจะเป็น
เรื่องสั้น, เรื่องเป็นเล่ม หรือเรื่องที่ลงพิมพ์ในหนังสือรายวัน, รายสัปดาห์,
รายเดือนอะไรก็ตาม ผู้ซื้อได้ลิขสิทธิ์ทั้งหมด ความจริงเรื่องที่พิมพ์ในวารสาร
ต่างๆ นั้นก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เท่ากับได้ลิขสิทธิ์แถมพกนั่นเอง
ตัวเงินตัวทองอยู่ที่หนังสือเล่ม สำหรับบทประพันธ์ดังกล่าวในพ.ศ.ต่อๆ มา
ก็ซื้อขายในลักษณะเดียวกัน แต่อาจเป็นคนละสำนักพิมพ์ ใครมือไวและยาวกว่า
ก็สาวได้

เฉพาะเรื่องยาวเช่น "เสือใบ" หรือ "เสือดำ" แยกขายต่างหากเป็นเรื่องๆ ไป

มีข้อแม้ในการซื้อขายอย่างหนึ่งคือต้นฉบับทั้งหมดผู้ซื้อต้องขวนขวายหา
หนังสือเอาเอง ผู้ขายไม่มีให้เพราะนักเขียนส่วนมากไม่ค่อยได้เก็บหนังสือเรื่อง
ของตนเอาไว้ครบชุด จะหาต้นฉบับได้อย่างไรจากที่ไหนจึงเป็นปัญหา จะไปขอ
คัดลอกจากหอสมุดฯ ก็ยุ่งยากมิใช่น้อย แต่ทางออกพอยังมีสำหรับหนังสือ
ที่พิมพ์เป็นเล่ม คือเที่ยวเสาะหาเอาตามร้านให้เช่าหนังสือที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ
โดยวิธีการ"ทุกรูปแบบ" อันเป็นคำใหม่ที่นิยมใช้เกร่อกันทุกวันนี้

มีนักเขียนไม่กี่คนใช้ระบบซื้อลิขสิทธิ์เป็นปีๆ ดังที่เล่านี้ นอกนั้นเจาะจง
ซื้อขายกันเป็นเรื่องๆ

บรรดาสำนักพิมพ์ใหญ่ๆหลายแห่งเริ่มมีกำเนิดมาจากร้านขายหนังสือเก่าใน
เวิ้งนาครเขษม และผู้ดำเนินงานปัจจุบันเข้าใจว่าตกทอดมาถึงชั้นลูกชั้นหลาน
ของผู้ริเริ่ม

ประมาณเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว บริเวณที่เรียกกันว่าเวิ้งนาครเขษมได้ชื่อ
เป็นแหล่งค้าขายของเก่าหรือของที่ใช้แล้ว เป็นมือที่สองหรือมือที่เท่าไหร่
ก็ไม่อาจทราบได้ สินค้าที่ใช้แล้วแทบทุกชนิดมีวางขายแยกประเภทเป็นร้านๆ ไป
เช่นเครื่องมือช่างไม้, ช่างเหล็ก, เครื่องจักร, เครื่องดนตรีของฝรั่งของไทย
จำพวกโบราณวัตถุก็มีมากมาย ชาวต่างประเทศชอบมาเสาะหาของเก่าติดมือ
กลับไปบ้านเมืองของเขา นาฬิกาเก่าแก่ทุกสมัยที่หาจากที่อื่นไม่ได้ก็มีให้เลือก
ทุกชนิด แม้แต่เครื่องเพชรนิลจินดาและทองรูปพรรณต่างๆ มีให้ชมในตู้
ละลานตา

ของเก่าแก่มีค่าเหล่านี้ บ้างเป็นของหลุดจากโรงจำนำ บ้างก็มีผู้นำมาขายทั้ง
ในและนอกกฏหมาย บางทีกว้านซื้อมาจากบ้านผู้ดีตกยากที่ประสบมรสุม
เศรษฐกิจในครอบครัว

ปัจจุบันสภาพตลาดค้าของเก่าในเวิ้งนาครเขษมไม่มีให้ดูแล้ว ของที่นำมา
ขายทุกวันนี้ล้วนใหม่เอี่ยมแกะออกจากหีบห่อและกล่องดั้งเดิมของมันทั้งสิ้น

ด้านทางเข้าเวิ้งตอนที่ติดกับตลาดปีระกา มีห้องแถวยาวหลายห้อง
ตรงนั้นแหละเป็นตลาดหนังสือเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ หนังสือที่วางขาย
แต่ละร้านมีไม่เหมือนกัน สุดแต่ใครจะหาหนังสืออะไรมาขายได้ ซึ่งได้มาจาก
เหมาซื้อหนังสือเหลือขายตามโรงพิมพ์ต่างๆ ออกกว้านหาซื้อเอาเองตามบ้าน
บ้าง อาศัยเจ๊กรับซื้อขวดช่วยซื้อหามาขายให้บ้าง เจ๊กซื้อขวดเหล่านี้เป็น
กำลังสำคัญสำหรับจัดหาหนังสือเก่ามาให้ เพราะสามารถเข้าออกได้ทุกบ้านไม่ว่า
ซอกเล็กตรอกน้อยแห่งใด ที่หอบหนังสือมาขายเองถึงร้านก็มีประจำ
หนังสือที่วางขายตามร้านเหล่านี้มีทุกขนาด, หลายประเภทและสารพัดเรื่อง

ร้านค้าหนังสือเก่าจึงเป็นขาประจำของนักเลงหนังสือพากันมาท่อมๆ หาของ
ที่ถูกใจ ซึ่งนานๆ จะได้สมใจสักเล่ม แรกๆ ก็ได้หนังสือดีราคาถูกเพราะผู้ขายยัง
ไม่รู้จักค่าของหนังสือ ต่อมาผู้ขายแยกประเภทหนังสือเป็นและรู้ความต้องการ
ของผู้ซื้อ ราคาขายจึงเขยิบขึ้นไปเรื่อย ซึ่งนักเลงหนังสือก็จำยอมถ้าได้ของถูกใจ

ผู้นิยมหนังสือเก่าเพิ่มขึ้น แต่การหามาทดแทนงวดลงทุกที บรรดาร้านขาย
หนังสือเก่าจำต้องปรับตัวโดยคิดพิมพ์หนังสือออกขายเสียเองทุกประเภท
เวลาผ่านไปนานเข้าและกิจการเจริญขึ้นก็ค่อยแปรสภาพเป็นสำนักพิมพ์ แม้ต่อมา
ภาวะของสงครามทำให้ซบเซาลงไปบ้าง

หลังสงครามเมื่อการค้าทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยดีแล้ว สำนักพิมพ์ในเวิ้งทั้งหลาย
ต่างแยกกันออกมาหาชัยภูมิใหม่ตามทำเลที่เป็นศูนย์การค้า เพราะที่เวิ้งนั้น
เป็นทางตันเสียแล้วที่จะขยายกิจการ

ขอย้อนมาเล่าเรื่องของ ป. อินทรปาลิตต่อไป

มีผู้สงสัยกันมากว่าเมื่อครั้งคุณปรีชายังมีชีวิตอยู่เหตุใดจึงเก็บเนื้อเก็บตัว
ไม่ค่อยเข้าสังคมกับเพื่อนนักเขียนด้วยกัน สาเหตุมันมีครับที่ทำให้คุณปรีชา
ประพฤติตัวเช่นนั้น ก่อนจะเล่าถึงเรื่องนี้ ผมอยากให้อ่านข้อเขียนบางตอนของ
คุณสันต์ เทวรักษ์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ "อนุสรณ์ ป. อินทรปาลิต" ดังนี้...

...ผมมักหาโอกาสไปดูการพิมพ์ปกที่โรงพิมพ์ของคุณประยูร (หอมวิไล)
เป็นอาจิณหลังจากเลิกงานที่สำนักงานของผมแล้ว และเมื่อไปถึงที่นั่น
ยามแดดร่มลมตก ก็ได้เวลาเปิดขวดกันพอดี คุณประยูรเป็นคนใจใหญ่ลงว่า
ได้เปิดขวดแล้ว ถ้าไม่ดื่มให้หมดขนาดบิดก้นขวดให้เหล้าหยดสุดท้ายสะเด็ดแล้ว
ก็จะถือว่าเป็นการเสื่อมศักดิ์เสียศรีอย่างยิ่ง ไม่นับถือกันทีเดียว ผมก็จำต้อง
ผสมโรงกับเขาไปด้วยพอเหม็นปากเหม็นคอ แล้วก็มักจะถูกเคี่ยวเข็ญให้อยู่
จนดึก รอกินข้าวต้มด้วยกันเสียก่อนถึงจะปล่อยให้กลับไปบ้านได้ ไอ้ผมมัน
ก็เป็นคนขี้เกรงใจเพื่อนเลยไม่ค่อยได้กลับไปกินเข้ามื้อเย็นเท่าไรนัก

ป.ไม่ยักลงมาดื่มร่วมกับเรา เขาลงมาจากชั้นบนในตอนค่ำ ทักทายคนโน้น
คุณ นิดคนนี้หน่อยแล้วก็ขอตัวขึ้นรถกลับไปบ้าน...

ผมกระซิบถามคุณประยูรว่า "ทำไม ป.เขาไม่มาร่วมวงกับเราเล่า กลัวบ้านจะ
หายหรือยังไงกัน"

"เขาเป็นยังงั้นแหละ" คุณประยูรตอบ "นาย ป. เขาเป็นคนเจียมตัว ถือว่า
ตัวเป็นนักประพันธ์สำนวนตลาด เป็นชั้นต่ำต้อย จึงไม่อยากเข้ากลุ่มกับพวกนาย
ที่เขียนกันชั้นคลาสสิคทั้งนั้น"

"คลาสสิคห่าเหวอะไรเล่า" ขอประทานโทษ ตอนนั้นผมถูกเคี่ยวเข็ญให้ดื่ม
เข้าไปหลายก๊งแล้วนี่ "มีแฟนอยู่หยิบมือเดียวเท่านั้นเอง ส่วนคุณ ป. เขามีแฟน
เต็มบ้านเต็มเมือง เด็กอ่านได้ผู้ใหญ่อ่านดี มีนักประพันธ์คนไหนทำอย่างเขา
ได้บ้างเล่า ผมยังเป็นแฟนของเขาเลย"

ชะรอยคำพูดประโยคนี้จะสะท้อนเข้าหูคุณ ป. โดยคำบอกเล่าของคุณประยูร
ก็ได้ ฉะนั้นในวันรุ่งขึ้นพอเขาลงมาจากชั้นบนเห็นผมเดินเกะกะดูเขาพิมพ์อยู่
ก็กรากเข้ามาจับมือผมรวบเข้าไว้ทั้งสองข้างทันที

"ผมรักคุณสันต์จัง ให้ตายซิ...เอ้า"

ผมชักงงๆ รักกันยังไงจนจะเป็นจะตาย จึงย้อนถามว่า "เพราะอะไรครับ
คุณ ป.?"

"ก็เพราะคุณสันต์ไม่ดูถูกผมน่ะซี"

เท่านั้นผมเองก็เข้าใจ และเย็นวันนั้นเขายอมมาดื่มเหล้ากับเราแก้วหนึ่งแล้ว
ก็รีบขอตัวกลับไป

คุณปรีชาเคยได้รับความสะเทือนใจครั้งใหญ่จากนักเขียนผู้หนึ่ง ที่ผมทราบ
เพราะอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย เหตุเกิดนานมาแล้วประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๗
ขณะนั้นคุณปรีชาเขียนหนังสือประจำคณะเพลินจิตต์ นักเขียนที่กล่าวถึงผู้นี้
ก้าวเข้ามาอยู่ในวงการหนังสือก่อนคุณปรีชาสองสามปี และประจำอยู่สำนัก
หนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง ไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกับคุณปรีชา และไม่เคยรู้จักกัน
ด้วยซ้ำ อยู่ดีๆ วันหนึ่งเขาส่งจดหมายไปรษณีย์มาถึงคุณปรีชา ประนามคุณปรีชา
อย่างก้าวร้าวเจ็บปวดที่สุด แต่น่าชมเชยอย่างยิ่งที่เขาเซ็นนามจริงให้ทราบ
ไม่ทำเป็นบัตรสนเท่ห์อำพรางให้เสียเวลาสืบหาตัว

ผมวิจารณ์หาสาเหตุไม่พบและไม่เข้าใจจนบัดนี้ คุณปรีชาไม่เคยสร้างความ
หมองใจให้เขาผู้นั้น ไม่มีผลประโยชน์อะไรที่ขัดกัน เลยคาดคะเนเอาเองว่า
คงจะเนื่องมาจากเข้าข่ายคำพังเพยที่ว่า "เห็นใครดีไม่ได้ เห็นใครได้ไม่ดี"
หรือจะเกิดเขม่นฉับพลันขึ้นมาจนลืมตัว หรืออยู่ในลักษณะที่หลวงวิจิตรวาทการ
ท่านว่า... "ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้" เขาจากโลกนี้ไปแล้ว หลังคุณปรีชา
ถึงแก่กรรมไปไม่กี่ปี

คุณปรีชาจึงเจียมตัว และยอมรับว่าเป็นนักเขียนชั้นสวะด้วยความเต็มใจ
และไม่ชอบคลุกคลีกับนักเขียนใหญ่ๆ ด้วยเกรงจะผิดฝาผิดตัวได้รับสิ่งแสลงใจ
เป็นครั้งที่สอง

นักเขียนเดินอยู่บนถนนสายเดียวกัน แต่ช่องทางเดินมีอยู่หลายช่อง ใครมี
อุดมการณ์จะเลี้ยวซ้ายเหลียวขวาหรือตรงไปก็ได้ตามใจสมัคร ใครเดินเร็ว
เดินช้า หรือเลือกเดินช่องใดก็ได้ตามอัธยาศัย ไฉนจะล้ำเส้นมาเบียดกันด้วย


All texts provided by this web site are intended for private uses only. Our main objectives are to promote "Sam-Gler" to all cyberspace surfers and to memorize one of the greatest writers in Thai fiction history, Por. Intarapalit. In short, all contents are for education purpose only. Any duplication or reissue of the contents for any other purpose must be avoided. Any occurrence arising out of and/or in connection with the said violation shall not be a scope of Webmaster's responsibilities.
For problems or questions regarding this web contact
Webmaster.
Last updated: 18-06-1998.