ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์  

best viewed with 640*480 and MSIE
 
 
 
 





 

ที่มาของเพลงดวงจันทร์

 

เพลงดวงจันทร์เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องเลือดสุพรรณ ประพันธ์โดย
หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งในครั้งแรกน่าจะเป็นเพลงประกอบในละครเวทีในยุค
สมัยนั้น (พศ. 2484 - พศ. 2486) เข้าใจว่าได้ถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็น
ภาพยนตร์มากกว่าหนึ่งครั้ง เท่าที่เสาะหาดูมีผลงานของเชิด ทรงศรี เมื่อปี
พศ. 2522 ในยุคเฟื่องฟู จากความสำเร็จของ "แผลเก่า" ผลงานหนังไทยอมตะ
นิรันดร์กาล

"เลือดสุพรรณ" ในยุคของคุณเชิด นำแสดงโดยคู่พระนางสุดฮอตในยุคนั้น
จาก "วัยอลวน" และ "รักอุตลุด" คือคุณไพโรจน์ สังวริบุตร และคุณลลนา สุลาวัลย์
นอกจากเพลงดวงจันทร์แล้ว มีอีกหนึ่งเพลงประกอบ คือเพลงเลือดสุพรรณ ที่มี
ท่อนร้องหนึ่งว่า "เลือดสุพรรณ มาด้วยกัน ไปด้วยกัน" เข้าใจว่าคงเคยได้ยินบ้าง

คงเดากันไม่ยากว่าหนังของคุณเชิดในยุคเฟื่องฟูนั้นเป็นแนวรักโศกย้อนยุค
"เลือดสุพรรณ" เป็นเหตุการณ์สมัยอยุธยา เปิดเรื่องณ.หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน
เมืองสุพรรณบุรี ยามฤดูน้ำหลากชาวบ้านต่างพากันรื่นเริงสนุกสนาน
ด้วยคาดว่าพม่าคงไม่ยกทัพเข้ามา เพลาค่ำของคืนหนึ่งดวงจันทร์ ลูกสาวของ
นายดวงและนางจันทร์ ได้ถูกชายแปลกหน้าบุกเข้ามาฉุดคร่าไปโชคดีที่มี
บุรุษลึกลับเข้ามาช่วยไว้ทันในระหว่างทาง ดวงจันทร์ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าแพลง
จึงต้องพักรักษาอยู่ที่กระท่อมกลางทาง จากการใกล้ชิดสนิทสนมเธอได้ทราบว่า
เขาชื่อทับเป็นทหารไทยมาสอดแนมข้าศึก ผ่านไป 3 วัน ในขณะที่ทั้งสองเริ่มมี
ความรักต่อกัน ชาวบ้านก็ตามมาพบดวงจันทร์ และได้พาเธอกลับไป ต่อมา
ไม่นานนัก ด้วยความประมาทและชะล่าใจของชาวบ้าน พม่าจึงบุกเข้ายึดเมือง
ได้อย่างง่ายดาย ชาวบ้านได้ถูกฆ่าตายหลายคนรวมทั้งย่าของดวงจันทร์ด้วย
ชาวบ้านถูกทารุณกรรมอย่างเหี้ยมโหด หญิงสาวหลายคนถุกฉุดไปข่มขืน
แม้กระทั่งเพื่อนของดวงจันทร์ ก็ถูกฉุดไปให้มังระโธนายกองปีกขวา แต่ถูก
ขัดขวางโดยมังราย ซึ่งเป็นลูกชายของมังมหาสุรนาท แม่ทัพใหญ่ของการศึก
ครั้งนี้ ดวงจันทร์จึงทราบว่าแท้จริงแล้วทับบุรุษลึกลับที่เธอมีจิตปฏิพัทธ์
คือมังราย นายกองปีกซ้ายแห่งกองทัพพม่า เธอจึงโกรธแค้นและอาฆาตมังราย
เป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านยังคงถูกใช้งานและทารุณอย่างหนักไม่เว้นดวงจันทร์
ที่ปลอมเป็นชาย ในขณะนั้น เมื่อพ่อถูกทำร้ายเธอจึงลุกขึ้นสู้ จนพม่าทราบว่า
เธอเป็นหญิง มังระโธจึงเข้าปล้ำ มังรายผ่านมาเห็นจึงช่วยไว้โดยเกิดการต่อสู้
กับมังระโธ ในที่สุดมังระโธพ่ายแพ้ไปอย่างเจ็บแค้น ค่ำคืนนั้นมังรายและ
ดวงจันทร์ต่างคิดถึงกันและกัน เธอพยายามหักห้ามใจไม่ให้คิดถึงมังราย
ศัตรูต่างชนชาติ เธอไปยังโบสถ์ร้างเพื่อภาวนาให้ตนมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่คิดรัก
ศัตรู แม้ว่าเขาจะทำดีอย่างไรก็ตาม บังเอิญมังรายมาพบเข้า เธออดใจอ่อนไม่ได้
มังรายพาเธอออกจากค่ายกักกัน ทั้งคู่ปรับความเข้าใจกันได้ มังรายปล่อยให้
ดวงจันทร์หนีไป แต่เธอไม่ยอมเพราะไม่อยากทิ้งพ่อและแม่ไว้ เธอจึงย้อนกลับ
เข้าค่าย ในขณะเดียวกับที่มังระโธตามหาดวงจันทร์ไม่พบจึงทารุณพ่อกับแม่
ของเธอจนนางจันทร์ตายในที่สุด เมื่อทั้งคู่มาพบเข้า มังรายรู้สึกสงสารและหดหู่
ในการกระทำของพวกตน จึงตัดสินใจปล่อยเชลยไปทั้งหมด มังระโธส่งทัพตามล่า
เหล่าเชลยจนมาล้อมไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี มังระโธนำความขึ้นฟ้อง
มังมหาสุรนาทในการกระทำของมังราย มังรายจึงชี้แจงถึงการกระทำของตนนั้น
เป็นการรักษาเกียรติของกองทัพพม่า ไม่ให้กระทำตนเช่นกองโจร ทหารชั้น
ผู้ใหญ่จึงประชุมกันและลงความเห็นว่ามังระโธผิดจริงจึงตัดสินให้ประหารมังระโธ
ก่อนตายมังระโธได้เรียกร้องให้มังมหาสุรนาทประหารบุตรชายคือมังรายด้วย
เพราะมีความผิดในการปล่อยเชลย ด้วยวินัยและความเป็นชายชาติทหาร
มังมหาสุรนาทจึงตัดสินให้ประหารมังรายด้วย เมื่อดวงจันทร์ทราบข่าวจึงกลับมา
ขอให้มังมหาสุรนาทประหารเธอแทนเนื่องจากเป็นต้นเหตุให้มังรายปล่อยเชลย
ทั้งหมด แต่มังมหาสุรนาทไม่ยอม มังรายจึงถูกประหารชีวิตในที่สุด ส่วนดวงจันทร์
เมื่อได้รับอิสระก็สมทบกับดวง ผู้เป็นพ่อและเชลยคนอื่นๆ พร้อมยอมสู้ตายแม้ว่า
จะสู้ไม่ได้ก็ตามที่สุดน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟเชลยทั้งหมดสู้จนตัวตาย แม่ทัพมังมหา
สุรนาทก็ยกย่องต่อการศึกของชาวบ้านถึงกับพูดว่าคนไทยเหล่านี้ต่างก็รู้อยู่แล้วว่า
สู้ไม่ได้ แต่ก็พร้อมใจกันมาสู้จนตาย สมแล้วที่เกิดมาในสายเลือดของ
เลือดสุพรรณ

"เลือดสุพรรณ" จึงปิดฉากลงด้วยโศกนาฏกรรมรักของหนุ่มสาวคู่ศัตรูทาง
ชนชาติ

คงทราบแล้วนะครับว่า เพลงดวงจันทร์นั้นนายทัพมังรายใช้ร้องเกี้ยวดวงจันทร์
และทำไมเธอถึงร้องว่า "ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง เมื่อเมฆขยายจันทร์
จะฉายท้องฟ้า" นับเป็น sound track เพลงไทยที่สุดยอดจริงๆ และถูกนำมา
ขับร้องใหม่หลายครั้ง ล่าสุดก็สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง ที่มาของคำถามครั้งนี้
หากย้อนไปนิดนึงก็วงเยื่อไม้ ในชุด เก้าละคร ครับ ถ้าใครมีข้อมูลมากกว่านี้
ขอเชิญเพิ่มเติมเข้ามานะครับ

(ขอขอบคุณข้อมูลจากหอภาพยนตร์แห่งชาติ)

คุณหมอดิเรก สมาชิกหมายเลข 122
26 เมษายน 2541


All texts provided by this web site are intended for private uses only. Our main objectives are to promote "Sam-Gler" to all cyberspace surfers and to memorize one of the greatest writers in Thai fiction history, Por. Intarapalit. In short, all contents are for education purpose only. Any duplication or reissue of the contents for any other purpose must be avoided. Any occurrence arising out of and/or in connection with the said violation shall not be a scope of Webmaster's responsibilities.
For problems or questions regarding this web contact
Webmaster.
Last updated: 26-04-1998.