ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์  

best viewed with 640*480 and MSIE
 
 
 
 





 

INTRODUCTION TO สามเกลอ

(กรุณากดปุ่ม Refresh ถ้าข้อความล้ำออกไปทางขวามือ)

(คัดลอกจากหนังสือ "อนุสรณ์ 20 ปีแห่งการจากไป ของ ป. อินทรปาลิต" โดย " เริงไชย พุทธาโร" โดยได้รับอนุญาตทางวาจา เพื่อนำมาตีพิมพ์เพื่อการศึกษา)

1

กลางปีพุทธศักราช 2481 ป. อินทรปาลิตได้ประพันธ์หัสนิยายตลกเบาสมองเรื่อง "อายผู้หญิง" ขึ้น โดยมีพล พัชราภรณ์ และนิกร การุณวงศ์ สองหนุ่มจอมกระล่อนเป็นตัวละครเอก "อายผู้หญิง" ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านอย่างกว้างขวางเกินความคาดหมาย ป. อินทรปาลิต จึงเสกสรรหัสนิยาย ชุดนี้ออกมาสู่ถนนหนังสือทีละบททีละตอนอย่างไม่ขาดสาย และได้เพิ่ม ตัวละครสำคัญๆ ขึ้นมาอีกหลายคนได้แก่ เจ้าคุณปัจจนึกพินาศ, สงวน ไทยเทียม (ภายหลังเปลี่ยนเป็นกิมหงวน ไทยแท้) และ ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ เป็นต้น จนกระทั่งหัสนิยายชุดนี้ได้รับการเรียกขานกันอย่างติดปากว่า "ชุดสามเกลอพล นิกร กิมหงวน"

บทบาทของพล พัชราภรณ์, นิกร การุณวงศ์, กิมหงวน ไทยแท้, ศักดิ์แห้ว โหระพากุล, คุณหญิงวาด, เจ้าคุณประสิทธิ์นิติศาสตร์, เจ้าคุณวิจิตรบรรณาการ, นายเชย พัชราภรณ์, เจ้าสัวกิมเบ๊, เจ้าสัวกิมไซ และแม่เสือทั้งสี่ (ซึ่งเป็นภรรยาของสี่สหาย) คือ นันทา, ประไพ, นวลละออ และ ประภา ได้เคลื่อนไหว สร้างความหรรษาฮาเฮให้กับนักอ่านชาว ไทยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานถึง 30 ปีเต็มๆ ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนเลยว่าจะมีนวนิยายเรื่องใดในวงวรรณกรรมไทย ที่ใช้ตัวละครชุดเดียวกัน จะสามารถครองใจผู้อ่านได้ยาวนานและมีจำนวนมากมายเป็นพันๆ ตอนเช่นหัสนิยายชุดนี้ และแม้นว่า ป. อินทรปาลิตผู้เป็นเจ้าของบทประพันธ์ จะได้ล่วงลับไปนานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม แต่หัสนิยายชุด สามเกลอพล นิกร กิมหงวน ก็ยังคงได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนนับครั้งและนับจำนวนมิได้ ไม่ว่ากระแสวัฒนธรรมการอ่านจะเปลี่ยนแปร บิดผันไปมากเพียงไร แต่สามเกลอพล นิกร กิมหงวน ก็ยังคงได้รับการต้อนรับจากนักอ่านทุกเพศ ทุกวัย รุ่นแล้ว รุ่นเล่า โดยไม่ขาดสายและอย่างน่ามหัศจรรย์ มาเป็นเวลานานถึง 50 ปีเต็มๆ

พฤติกรรมของพล นิกร กิมหงวนกับคณะ นอกจาก จะมุ่งเน้นในการสร้างความบันเทิงเริงรมย์ ให้ผู้อ่านแล้ว ในระหว่างตัวอักษรแต่ละบรรทัดยังได้สอดแทรกแนวความคิด ความเชื่อ และความรู้ต่างๆ ของผู้ประพันธ์ลงไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นบรรยากาศหรือฉาก ในการดำเนินเรื่องจำนวนมาก ป. อินทรปาลิต ได้หยิบฉวยเอามาจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสังคมรอบตัว ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในและ ต่างประเทศ ทั้งจากเรื่องราว ในภาพยนตร์ นวนิยาย และข่าวสารต่างๆ โดยผู้ประพันธ์ได้นฤมิตให้ ตัวละครเอกของชุดสามเกลอ เข้าไปมีบทบาทอยู่ในเรื่องราว และเหตุการณ์เหล่านั้น ทำให้หัสนิยายชุดนี้มีลักษณะ เหมือนกับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมในรูปแบบ ที่สร้างความ ขบขันหรรษาให้กับ ผู้อ่านไปโดยมิได้รู้ตัวเลยว่า กำลังได้อ่านบันทึกแห่งวิวัฒนาการของสังคมไทย และสังคมโลกไปพร้อมๆ กัน

สามเกลอพล นิกร กิมหงวนปรากฎสู่สายตาของผู้อ่านมาตั้งแต่ยุคที่ตัวละครยังนุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน กลัดกระดุม ห้าเม็ด จนกระทั่งใส่ชุดสากล สวมหมวกตามสมัยรัฐนิยม และพัฒนารูปแบบเครื่องแต่งกายตามกระแสสังคมเรื่อยมาจนกระทั่ง ปลายปี พ.ศ. 2511 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของผู้ประพันธ์ หัสนิยายชุดสามเกลอพล นิกร กิมหงวน ได้บันทึกวิวัฒนาการ และเหตุการณ์ต่างๆ นานาของสังคมมาตลอด ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

2

ปลายปีพุทธศักราช 2482 พลตรี หลวง พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีต้องการจะสร้างชาติให้เจริญ ก้าวหน้าตามแนวคิดของตน จึงประกาศใช้ "รัฐนิยม" เริ่มต้นด้วย การเปลี่ยนชื่อประเทศ "สยาม" มาเป็นประเทศ "ไทย" รัฐบาลในยุค "มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ" ได้ประกาศรัฐนิยมออกมา ควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างมากมายเช่น ให้เลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งกางเกงขายาว และนุ่งกระโปรงแทน ให้สวมหมวก สวมถุงเท้า รองเท้า ให้สามีจูบภรรยาก่อนออกจากบ้าน ตลอดจนไม่ให้กินหมาก ไม่ให้กระเดียดกระจาด ฯลฯ เป็นต้น

ป. อินทรปาลิตเขียนเรื่อง "รัฐนิยม" ให้สามเกลอพล นิกร กิมหงวน กับคณะขานรับนโยบายของ รัฐบาล โดยมีเจ้าคุณปัจจนึกฯ เป็นตัวตั้งตัวตี ชักชวนให้ชาวคณะปฎิบัติตาม แนวคิดของท่านผู้นำ ตั้งกฏเกณฑ์ให้กินให้ใช้แต่ข้าวของที่ "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยซื้อ ไทยขาย" และเลิก ใช้สินค้าของ ต่างประเทศโดยเด็ดขาด

เมื่อทุกคนยอมปฏิบัติตามข้อบังคับที่เจ้าคุณปัจจนึกฯ กำหนดขึ้นแล้ว ชาวคณะสามเกลอก็พยายาม ทำตามเงื่อนไขเหล่านั้น แต่เนื่องจากหลายๆ คนยังมีข้าวของที่เป็นสินค้าต่างชาติหลงเหลือ กันอยู่บ้าง ที่เพิ่งไปซื้อมาใช้ใหม่ตามความเคยชินก็มีบ้าง ทำให้เจ้าคุณปัจจนึกฯ ต้องคอยติดตามสอดส่องสังเกต สมาชิกอยู่เสมอ จึงเกิดเรื่องอลเวงอลหม่านกันอุตลุด

"สามเกลอเลี้ยงไก่" เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ ป. อินทรปาลิต เขียนให้คณะพรรคสามเกลอปฏิบัติตน ตามแนว "รัฐนิยม" ของนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น

อาเสี่ยหัวเราะ เจ้าคุณหันมาถามพล นิกร

"ฉันได้ข่าวว่าเมียของแกกำลังกระทำตัวให้ถูกต้องตามระบอบรัฐนิยม ไม่ใช่หรือ"

"ครับ" พลตอบท่าน "คุณอาว่างๆ เชิญชมสวนครัวที่บ้านผมซีครับ สนุกเหลือเกิน สวนดอกไม้หลังบ้านผมกลายเป็นสวนครัวไปหมดแล้ว"

"นั่นแหละ แกน่าจะชมเมียๆ ของแกที่รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์"

นายพัชราภรณ์ทำหน้าเหม็นเบื่อ

"จะทำได้สักกี่วันครับ เห่อกันไปงั้นเอง เห็นเขาทำสวนครัว ก็ทำบ้าง นี่กำลังดำริจะเลี้ยงไก่กันอีกครับ ไม่เป็นทำอะไรแล้ว วันยังค่ำ ยุ่งกับเรื่องสวนครัว"

3

ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้ชาวต่างชาติหลายครั้ง โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยเสียดินแดนให้กับอังกฤษกับฝรั่งเศสไปเป็นจำนวนมาก ในปีพ.ศ. 2482 ฝรั่งเศสได้ทาบทามขอสัญญาไม่รุกรานกันกับไทย รัฐบาลไทยจึงขอปรับปรุง เส้นเขตแดนตามแนวลำแม่น้ำโขงใหม่ แต่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธ

พลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขอมติสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนกลับคืน ยุวชนทหารและยุวนารีจึงร่วมกันเดินขบวนไปกล่าวคำปฏิญาณต่อพระแก้วมรกต และร่วมชุมนุมกัน ที่หน้ากระทรวงกลาโหมในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 เป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรก หลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475

ป. อินทรปาลิตได้ประพันธ์ให้สามเกลอพล นิกร กิมหงวน เข้าร่วมในการเดินขบวนครั้งนี้ด้วย ในเรื่อง "เลือดไทย" สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ตีพิมพ์เป็นลำดับที่ 184 ออกวางตลาดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ราคาเล่มละ 35 สตางค์ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อนเขียนภาพปกเป็นรูปสามเกลอ แบกป้ายเดินขบวน พิมพ์สอดสีสวยงาม ภาพประกอบภายในเล่มเป็นผลงานลายเส้นของ ชำนาญ เสนีย์วงศ์

เหตุการณ์ด้านชายแดนอินโดจีนเข้าขั้นวิกฤติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสให้คำตอบ สำหรับการเรียกร้องดินแดนคืนด้วยการส่งเครื่องบินล่วงล้ำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ยิงปืนข้าม แม่น้ำโขงเข้าใส่ฝั่งไทย และส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม กองทัพไทยจึงเปิดฉาก ต่อสู้กับกองทัพของฝรั่งเศส รบรุกเข้าไปในอินโดจีนจนสามารถยึดดินแดนคืนได้หลายแห่ง

ป. อินทรปาลิตจึงส่งสามเกลอกับคณะ เข้าไปร่วมสู้รบในสงครามอินโดจีนในเรื่อง "นักบินจำเป็น" (สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ตีพิมพ์ออกวางตลาดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2484), "บินประจัญบาน" (25 มกราคมปีเดียวกัน), "จอมเวหา" เป็นอีกตอนหนึ่งที่ฝรั่งเศสให้นักบิน จากประเทศเมืองขึ้นในอาฟริกา ประมาณ 100 คน ซึ่งเชี่ยวชาญการรบทางอากาศ เดินทางมาสู่สมรภูมิอินโดจีน สามเกลอพล นิกร กิมหงวน ต้องประจัญบานกับนักรบเหล่านั้น อย่างดุเดือด

ชุด "สงครามอินโดจีน" นี้ ป. อินทรปาลิตประพันธ์ไว้อย่างต่อเนื่องหลายตอนด้วยกัน ตั้งแต่ "นักบินจำเป็น" มาจนถึง "พักรบ"(1 มีนาคม พ.ศ. 2484) และ "นักกีฬาเอก"(8 มีนาคม พ.ศ. 2484) เป็นนวนิยายที่บันทึกถึงเหตุการณ์ในสงครามอินโดจีนไว้อย่างละเอียด ชนิดที่ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชรกล่าวว่า

"...ไม่ต้องไปอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องไปฟังวิทยุครับ อ่านพล นิกร กิมหงวนนี่ รายงานหมดทุกอย่าง"

4

ต่อมาประเทศไทยได้เข้าร่วมในสถาณการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพันธมิตรกับญี่ปุ่นประกาศ สงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เที่ยงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นต้นไป ป. อินทรปาลิตก็ให้สามเกลอพล นิกร กิมหงวนกับคณะเข้าร่วมรบกับนายทหารอากาศชาวอาทิตย์อุทัย ครั้นถึงยุคที่ไทยจัดตั้งขบวนเสรีไทยขึ้น เพื่อรักษาเอกราชของชาติและช่วยให้ประเทศไทย รอดพ้นจากหายนะ ในกรณีที่อังกฤษกับสหรัฐอเมริกาชนะสงคราม คณะพรรคสี่สหายก็เข้าร่วมกู้ชาติ กู้แผ่นดิน กับขบวนการเสรีไทยด้วย

เรื่องราวและเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นในสังคมไม่ว่าจะใหญ่โตหรือเล็กน้อยเพียงใดก็ตามได้ถูก ป. อินทรปาลิตบันทึกไว้เป็นฉากในหัสนิยายชุดสามเกลอพล นิกร กิมหงวนอย่างมากมายเหลือคณานับ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ได้กล่าวถึง ป. อินทรปาลิตในรายการ "ครอบจักรวาล" ทางสถานีวิทยุ ท.ท.บ.เอ็ฟ.เอ็ม เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2529 ไว้ตอนหนึ่งดังนี้

"ป. อินทรปาลิตได้สร้างตัวละครสามเกลอพล นิกร กิมหงวนขึ้น โดยเอาเหตุการณ์ประจำวัน ในแวดวงของบ้านเมืองมาเขียนเป็นนิยายชุดสามเกลอ เป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้นแหละครับ ป. อินทรปาลิตนอกจากจะเขียนนวนิยายตลกโปกฮาแล้ว ยังเป็นนักบันทึกประวัติศาสตร์คนสำคัญ เลยทีเดียว..."


All texts provided by this web site are intended for private uses only. Our main objectives are to promote "Sam-Gler" to all cyberspace surfers and to memorize one of the greatest writers in Thai fiction history, Por. Intarapalit. In short, all contents are for education purpose only. Any duplication or reissue of the contents for any other purpose must be avoided. Any occurrence arising out of and/or in connection with the said violation shall not be a scope of Webmaster's responsibilities.
For problems or questions regarding this web contact
Webmaster.
Last updated: 03-03-1998.