เจ้าคุณปัจจนึกพินาศ  

best viewed with 640*480 and MSIE
 
 
 
 





 

แนะนำตัวละครในสามเกลอ

คัดลอกและตัดทอนจากหนังสือ 'ถนนหนังสือ' ปีที่ 3 ฉบับที่ 12 มิถุนายน 2529
เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น โดยคุณ
ประดิษฐ์ แก้ไขเพิ่มเติมโดย
Webmaster)

ราวกลางปี 2481 ป.อินทรปาลิต ได้เขียนนวนิยายตลกเบาสมองเรื่อง อายผู้หญิง
ขึ้น กล่าวถึงลูกชายจอมกระล่อนของผู้ดีมีสตางค์สองคน (สังเกตว่ายังไม่มี
กิมหงวน) คือ พล พัชราภรณ์ บุตรของ เจ้าคุณ ประสิทธิ์นิติศาสตร์
กับคุณหญิงช้อย (ภายหลัง ป.อินทรปาลิต ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคุณหญิงวาด) และ
นิกร การุณวงศ์ ลูกชายคนเล็ก ของเจ้าคุณ วิจิตรบรรณาการ ต่อหน้าบิดามารดา
หนุ่มรักสนุกทั้งสอง ทำตัวสงบเสงี่ยมและขี้อายอย่างที่สุด แต่เบื้องหลังนั้น
เป็นเสือร้ายจอมกะล่อน แอบหนีไปเที่ยวสำมะเลเทเมาอยู่ตามคลับตามบาร์
เป็นประจำทุกค่ำคืน โดยที่ไม่มีผู้ใดในครอบครัวได้ล่วงรู้ นอกจาก เจ้าแห้ว
คนรับใช้ประจำบ้าน พัชราภรณ์ เท่านั้น

ป.อินทรปาลิต แนะนำตัวละครเอกเรื่อง อายผู้หญิงทั้งสองคนไว้ดังนี้

"ชายหนุ่มท่าทางสวยเก๋ ในเครื่องแบบสากลคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้อง เขาคือ
พล พัชราภรณ์ ผู้ที่สงบเสงี่ยมราวกับผ้าพับไว้ อนิจจา เจ้าแห้ว คนใช้สนิทของเขา
คนเดียวเท่านั้นที่รู้ความจริงว่านายพัชราภรณ์ คือ "เสือ!" และเป็นเสือชนิด
ลายพาดกลอน เจ้าแห้วกำความลับของพลไว้ด้วยอำนาจของเงิน เจ้าแห้วไม่เคย
ปริปากให้ใครรู้ว่างานสำคัญของตนนั้นคือคอยปิดเปิดประตูรั้วหลังบ้านและ
ประตูหลังตึกรับพลแทบทุกคืน นายพัชราภรณ์ปราดเปรียวในวงการสมาคม
อย่างที่สุด เป็น พล พัชราภรณ์ เมื่ออยู่ในบ้าน หรือที่ห้าง "พัชราภรณ์" ซึ่งเขา
เป็นผู้จัดการ สงบเสงี่ยมยิ่งกว่าผู้หญิง วงศาคณาญาติ ออกปากไปตามๆ กัน
แต่ถ้าพ้นบ้านหรือไกลหูไกลตาญาติพี่น้องแล้วพลด้ขนานนามตนเองว่า กำแหง
เพื่อนคู่หูของเขาคือนิกร การุณวงศ์ หรือในนามแฝงว่า ประชา มีหน้ากาก
สวมสองหน้าเช่นเดียวกับพลเหมือนกัน ตามวงการสมาคมรู้จักกันแต่เพียงว่า
กำแหงกับประชาเป็นชายหนุ่มที่มีฐานะมั่งคั่ง และมักจะได้ปิดบังเรื่อง
ความเป็นอยู่ของเขา ทั้งสองเมื่อคู่กันแล้วก็ทะโมนไพรเราดีๆ นี่เอง

เจ้าคุณและคุณหญิงประสิทธิ์ฯ ตลอดจนญาติพี่น้องของพลต่างเข้าใจผิด
มานานแล้ว คิดว่าพลสงบเสงี่ยมขี้อายนุ่มนิ่มเหมือนผู้หญิง เที่ยวเตร่ไม่เป็น
ส่วนนิกรก็เช่นเดียวกัน นิกรเป็นลูกชายคนเล็กของเจ้าคุณวิจิตรบรรณาการ
พี่ชายของคุณหญิงประสิทธิ์ฯ นั่นเอง นิกรจึงเป็นทั้งเพื่อนและญาติของพล
นับตามลำดับญาติก็เป็นพี่"


คุณ ฤทัย อินทรปาลิต พูดถึงนวนิยายตลกเบาสมองเรื่อง อายผู้หญิงว่า "พ่อตั้งใจ
จะเขียนเพียงเล่มเดียว ท่านเป็นคนมีอารมณ์ขัน เขียนสนุกๆ ไม่ได้ตั้งใจจะให้
ยืดเยื้อถึงขนาดนั้น แต่พอพิมพ์ออกมาแล้วปรากฏว่าคนอ่านติดใจ"


เมื่อ อายผู้หญิงได้รับความนิยมเกรียวกราวอย่างถึงขนาด ป.อินทรปาลิต จึง
บันดาลให้พล พัชราภรณ์กับ นิกร การุณวงศ์ ออกมาวาดลวดลายจี้เส้นผู้คน
บนถนนหนังสือต่อด้วยเรื่อง หนุ่มรักสนุก ครั้นความลับในเรื่องการเที่ยวเตร่
เฮฮาของสองเกลอจอมกะล่อนถูกเปิดโปงออกมาแล้ว ทางบ้านก็ได้ติเตียนและ
เข้มงวดกวดขันความประพฤติหนักขึ้น หนุ่มรักสนุกทั้งสอง จึงแกล้งหนีออกจาก
บ้านไปเช่าที่อยู่กันตามลำพัง

หวงลูกสาว เป็นเรื่องที่สามในหัสนิยายชุดนี้ ในขณะที่พล พัชราภรณ์ กำลังมี
ความรักกับนันทาพี่สาวของนิกร การุณวงศ์อยู่นั้น นิกรก็ต้องอกหักเป็นคำรบสอง
เพราะผู้หญิงที่ตนหมายปองมีคู่หมั้นอยู่แล้ว พิษแห่งความรักทำให้สองเกลอ
ต้องไปดื่มเหล้าเดวิดสันที่ แฮ็ปปี้ฮอลล์ กันอย่างหามรุ่งหามค่ำ ณ แฮ็ปปี้ฮอลล์
นี่เองที่ ป.อินทรปาลิต ได้นำตัวละครเอกในชุดสามเกลออีกคนหนึ่งมาพบกับ
ผู้อ่าน

"พอย้าสแบด์เริ่มต้นบรรเลงเพลงใหม่ สงวนก็ลุกเดินมาทางโต๊ะพล ด้วยลักษณะ
การเดินทำหลังค่อมเล็กน้อยเอาศีรษะไปก่อน ปากคาบกล้องยาเส้น มือทั้งสอง
เท้าสะเอว ท่าทางเช่นนี้แหละคือบุคลิกลักษณะมนุษย์ที่เย่อหยิ่งจองหองทั้งหลาย"

บุคลิกของ สงวน ไทยเทียม ภายหลังได้แสดงออกถึงความทะเล้นทะลึ่งตึงตัง
อย่างเต็มที่ ชื่อนามสกุลก็ถูกเปลี่ยนไปเป็น กิมหงวน ไทยแท้ และเลิกคาบกล้อง
ยาเส้นหันมาสูบบุหรี่ธรรมดา ในเรื่อง หวงลูกสาว ป.อินทรปาลิต ให้อาเสี่ย
กิมหงวนบุตรชายของเจ้าสัวกิมเบ๊ ฉีกธนบัตรทิ้งเล่นโก้ๆ ใน แฮ็ปปี้ฮอลล์
พอหอมปากหอมคอแล้วจึงเปิดตัวละครสำคัญอีกหลายคนออกมาให้ผู้อ่านรู้จัก

"สุภาพบุรุษสูงอายุคนหนึ่งนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินสวมเสื้อนอกแพรฝรั่งเศส ลักษณะ
ท่าทางบอกว่าเป็นขุนนางวางน้ำยา สวมแว่นตาคนแก่ ศีรษะหาผมทำยายาก
ยืนมองดูชายหนุ่มด้วยสายตาขุ่นๆ

ท่านผู้นี้คือนายพลโท พระยาปัจจนึกพินาศ นายทหารนอกราชการสังกัดกระทรวง
กลาโหม เราถือโอกาสนี้แนะนำท่านผู้อ่านทั้งหลาย ให้รู้จักท่านเจ้าคุณผู้แพ้ผม
ไว้ด้วย

ท่านเจ้าคุณเป็นคหบดีผู้มั่งคั่งในย่านถนนรองเมือง ท่านมีทรัพย์มากมายก่ายกอง
อันสืบเนื่องมาแต่ครั้งบรรพบุรุษของท่าน ซึ่งใช้ในชั่วอายุลูกหลานก็ไม่หมด
เดี๋ยวนี้เจ้าคุณปัจจนึกฯ ไม่ได้ทำงานอะไรหารายได้เพิ่มเติม เพียงแต่เงินบำนาญ
ของท่านเดือนละ 800 บาท ก็พอใช้แล้ว

บรรดาผู้ที่รู้จักและคุ้นเคยกับท่าน ต่างรู้ดีว่าเจ้าคุณปัจจนึกฯ มีธิดาสุดสวาทอยู่
2 คน ชาวบ้านแถวถนนรองเมืองให้สมญาว่า "พระนางพี่พระนางน้อง" หญิงสาว
ที่ยืนอยู่ข้างๆ นี่แหละ

ประภากับประไพ ศิริสวัสดิ์ คือดวงใจนัยน์ตาของท่านเจ้าคุณ ประภาผู้พี่สาวอายุ
21 ปีนี้ ส่วนประไพอ่อนกว่า 1 ปี ทั้งสองเกิดมา เพื่อทำความคลั่งไคล้ใหลหลง
ให้กับผู้ชาย สวยสะอาดบาดใจไม่มีใครเปรียบเหมือน งามราวกับเทพธิดาที่จุติ
ลงมาจากฟากฟ้า"


สามเกลอพล นิกร กิมหงวน สร้างความหฤหรรษ์ให้กับผู้อ่านทั่วประเทศต่อไป
อย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยเรื่องราวอันแสนสนุกสนานสารพัดสารพัน จนกระทั่งต้นปี
พ.ศ. 2482 สามเกลอจึงได้พบกับเพื่อนคนใหม่ เป็นนายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์
ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษามาจากประเทศอังกฤษในหัสนิยายเรื่อง อ้ายดำปลอด
(เดชผีดิบ)

"คนอื่นที่กิมหงวนพูดถึงก็คือด็อกเตอร์ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ แห่งมหาวิทยาลัย
อ็อกฟอร์ด เขานั่งมองนายลิงทั้งสามด้วยความไม่พอใจ ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ เป็น
ชายรูปร่างสูงโปร่ง ใบหน้ารูปไข่ แก้มตอบเล็กน้อยมีเคราขึ้นเขียว ท่าทางคล้าย
กับพระเอกหนังคนหนึ่ง แต่งตัวสมาร์ท นุ่งกางเกงสักหลาดอ่อนสีเทา สวมเชิ้ต
แขนยาว ผูกเน็คไทหูกระต่าย ปากคาบกล้องดันฮิล พ่นควันโขมง"

เจ้าคุณปัจจนึกฯ กล่าวถึงดร. ดิเรก ในตอนหนึ่งของเรื่อง หมัดเด็ด ตีพิมพ์
ประมาณพ.ศ. 2483-2484 ว่า

"อ๋อ-ไม่ใช่แต่หัวนอกหรอกครับ ทั้งตัวเลยคุณ ไปอยู่อังกฤษตั้งหลายปีกลับมา
เกือบจะลืมสัญชาติเลย แลเห็นฝรั่งเป็นพ่อ อะไรๆ ในเมืองไทยสู้เมืองนอกไม่ได้
ทั้งนั้น แต่ไม่รู้ว่ามันกลับมาทำไม"

ก่อนกลับเมืองไทย ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ได้แวะที่ประเทศอินเดียอยู่ระยะเวลา
หนึ่ง จึงทำให้ดิเรกมักจะพูดยกย่องถึงคุณงามความวิเศษของประเทศอินเดีย
อยู่เสมอจนถูกพรรคพวกขัดคอบ่อยๆ ในเวลาที่ดร. ดิเรกเอ่ยถึง "ท่านมหาราชา
องค์หนึ่ง..."

หลังจากเรื่อง อ้ายดำปลอด มนุษย์ผี และเขยใหม่แล้ว ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์
บุตรชายคนเดียวของพระยานพรัตน์ไมตรีก็ได้มีบทบาทสำคัญร่วมกับ
คณะสามเกลอพล นิกร กิมหงวน และเจ้าคุณปัจจนึกฯ ในพฤติกรรมตอนต่างๆ
สืบเนื่องกันมาเกือบสามสิบปีทีเดียว


All texts provided by this web site are intended for private uses only. Our main objectives are to promote "Sam-Gler" to all cyberspace surfers and to memorize one of the greatest writers in Thai fiction history, Por. Intarapalit. In short, all contents are for education purpose only. Any duplication or reissue of the contents for any other purpose must be avoided. Any occurrence arising out of and/or in connection with the said violation shall not be a scope of Webmaster's responsibilities.
For problems or questions regarding this web contact
Webmaster.
Last updated: 04-06-1998.