เจ้าคุณปัจจนึกพินาศ  

best viewed with 640*480 and MSIE
 
 
 
 





 

ป. อินทรปาลิต

(คัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาติเพื่อการศึกษา จากหนังสือ "ประวัตินักเขียนไทยเล่มที่ 1" โดย กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร)

ป. อินทรปาลิต ชื่อจริง นายปรีชา อินทรปาลิต

บิดาชื่อ พ.ท. พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) ประวัติชีวิตส่วนตัวไม่ปรากฎ ถึงแก่กรรมเมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2511

การศึกษาและการทำงาน

ป. อินทรปาลิต ปรารถนาจะเป็นนายทหารอย่างบิดา จึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น พ.ศ. 2474 แต่เรียนไม่สำเร็จ เพราะสอบไล่ตก 2 ปีซ้อน จึงต้องออกตามระเบียบของโรงเรียน จากนั้นเข้าทำงานอีกหลายแห่ง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และโรงเรียนช่างพิมพ์ของคุรุสภา ภายหลังลาออกมาประกอบอาชีพเขียนหนังสืออย่างเดียว

งานเขียนหนังสือ

ขณะที่ ป. อินทรปาลิต ออกจากโรงเรียนนายร้อย กำลังเป็นยุคนวนิยายราคาเยาเฟื่องฟู เนื่องจากเขามีความสามารถในการเขียนการประพันธ์บ้างแล้ว จึงลองแต่งนวนิยายเรื่องแรก เมื่อ พ.ศ. 2475 ชื่อ "นักเรียนนายร้อย" นำเหตุการณ์และประสบการณ์ขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยมาประกอบเป็นโครงเรื่อง แล้วส่งไปให้คณะเพลินจิตต์ ซึ่งได้รับพิจารณาพิมพ์ออกจำหน่าย เหม เวชกร ออกแบบปก เนื่องจากสมัยนั้นเป็นสมัยที่นักเรียนนายร้อยกำลังเป็นที่นิยมกันทั่วไป เมื่อหนังสือออกวางตลาดจึงมีผู้อ่านสนใจอ่านกันมาก หลังจากนั้นเขาก็ได้เป็นนักเขียนในคณะเพลินจิตต์ เขียนเรื่องส่งไปให้เป็นประจำ

ป. อินทรปาลิต มีนิสัยถ่อมตน สันโดษ ไม่ค่อยได้สังสรรกับนักเขียนร่วมอาชีพเท่าใดนัก

ผลงาน

เขาเป็นนักเขียนที่มีความสามารถพิเศษ คือเขียนเรื่องได้เร็ว เมื่อประสบผลสำเร็จในการเขียนนวนิยายเรื่องแรกแล้ว ชื่อเสียงของเขาก็ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางและได้รับความนิยมสูงขึ้น จึงผลิตงานเขียนชุดอื่นๆ ออกมาอีก เช่นชุดตลกขบขัน พล นิกร กิมหงวน ชุดบู๊ดุเดือด "เสือใบ-เสือดำ"

ผลงานที่น่าสนใจ

"เรื่องเสือใบและเรื่องเสือดำ" ทั้งสองเรื่องนี้เขียนขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คาดว่าตีพิมพ์เผยแพร่ก่อน พ.ศ. 2491 เรื่องเสือใบตีพิมพ์ออกมาก่อน ต่อมาจึงเขียนเรื่องเสือดำ ซึ่งในตอนเริ่มเรื่อง ป. อินทรปาลิต ได้พิมพ์สำเนาจดหมายของเสือดำไว้ด้วย โดยกล่าวว่าจดหมายนั้นเสือดำเป็นผู้เขียนเอง ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2491 ส่งมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี

นวนิยายทั้งสองเรื่องนี้เสนอวิธีแก้ปัญหาในสังคม (นายทุนและข้าราชการทุจริต) ซึ่งไม่ปรากฏอุดมการทางการเมืองอย่างเด่นชัด แต่แสดงถึงบุคลิกภาพของผู้นำ (เสือใบและเสือดำ) อันเป็นที่ต้องการของชายในสังคมไทย คือ

1. มีความเยือกเย็น เด็ดขาดจริงจัง ยุติธรรม กล้าหาญ มีวาจาสัตย์ ไม่พยาบาท และมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์

2. มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี ลูกผู้ชายต้องพยายามปกป้องและรักษาศักดิ์ศรีของตน และผู้อยู่ในความรับผิดชอบ ไม่เหยียดหยามทำลายศักดิ์ศรีของผู้อื่นโดยไม่มีสาเหตุอันควร เมื่อรักษาศักดิ์ศรีแห่งบทบาทเดิมของตนไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนบทบาท

เฉพาะชุดเสือใบนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องขอร้องให้เพลาการโลดโผนลงบ้าง เพราะตัวเอกของเรื่องเป็นโจรที่เก่งกล้าสามารถอาจหาญเกินผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เกรงจะเกิดการลอกเลียนแบบ ทำให้การปราบปรามยากลำบากขึ้น อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ก็ยังมีคติธรรมแฝงอยู่ คือฝ่ายอธรรม แม้ยิ่งใหญ่มีอิทธิฤทธิ์เพียงใด ก็ต้องพ่ายแพ้ธรรมะทุกครั้งไป

ตลอดชีวิตเขาไม่เคยหยุดงานเขียน ผลงานของเขาจึงมีอยู่อย่างไม่ขาดสาย บางคนกล่าวว่าเขาเขียนเรื่องอย่างพื้นๆ ไม่มีผลงานที่จะนับเป็นวรรณกรรมได้ แต่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า งานเขียนของเขาทำให้วงการเขียนไม่ซบเซา แม้ยามที่ตลาดหนังสืออยู่ในระยะเงียบเหงา เขาก็ยังมีงานเขียนออกมาเรื่อยๆ บางทีเมื่อไม่มีงานใหม่ เรื่องเก่าของเขาก็ยังได้รับการพิมพ์ใหม่อยู่เสมอ นับว่าเขาเป็นผู้บุกเบิกวงการเขียนของเมืองไทยอย่างทรหดอดทนผู้หนึ่ง

ผลงานเขียนชุด พล นิกร กิมหงวน ระยะแรกที่ลงพิมพ์ในนิตยสารปิยะมิตรพิเศษวันจันทร์ พ.ศ. 2490 สำรวจได้ดังนี้

1) ฮอลลีวูดสโมสร

2) สามเกลอผจญโจร

3) สามเกลอเมืองคาสิโน

4) สามเกลอกลับบ้าน

5) สามเกลอเกี้ยวแม่หม้าย

6) สามเกลอผจญเสือใบ

7) สามเกลอไข่คน

8) สามเกลอลักเพศ

9) พล นิกร กิมหงวน เยี่ยมปิยะมิตร

10) สามเกลอปล้นพ่อตา

11) สามเกลอช่างถ่ายรูป

12) สามเกลอเที่ยวสวนอัมพร

13) สามเกลอคนละพรรค

14) สามเกลออภินิหารหน้ากากดำ

15) สามเกลอของขวัญปีใหม่

16) สามเกลอตะกละ

17) สามเกลอนักเลง

18) สามเกลอดูดาว

เรื่องสั้นอื่นๆ คือ กระทิงเขาหัก สัมภาษณ์เสือใบ ไอระเหยจากอกน้องนาง หล่อนเป็นสาวสมัยปลาสติก มนต์รักเมื่อจันทร์ลับฟ้า คิมหันต์ที่กลับมาทำให้เธอเบื่อโลก ชาย 10 โบสถ์ (แต่งอุทิศให้ ไม้ เมืองเดิม) พลับพลึงไพร เขามาแต่วิญญาณ เขากลับมามือเปล่า ผู้แพ้ เบื้องหลังการปล้นทองรายใหญ่ โซ่ทอง

งานเขียนชุดสุดท้ายของ ป. อินทรปาลิต ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ก่อนหน้าถึงแก่กรรมเล็กน้อย ชื่อคอลัมน์ "สังเวียนชีวิต" เล่าประวัติชีวิตของตนเอง

บั้นปลายชีวิตของเขาจบลงอย่างลำบากยากจน มีข้อความหนึ่งกล่าวถึงเขาไว้ว่า "ป. อินทรปาลิต ได้สร้างเสี่ยกิมหงวนไว้อย่างโอ่อ่าและมั่งคั่ง แต่เมื่อเขาใกล้ตาย เสี่ยกิมหงวนช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย"

นามปากกา

1. ป. อินทรปาลิต

2. ปิ๋ว


All texts provided by this web site are intended for private uses only. Our main objectives are to promote "Sam-Gler" to all cyberspace surfers and to memorize one of the greatest writers in Thai fiction history, Por. Intarapalit. In short, all contents are for education purpose only. Any duplication or reissue of the contents for any other purpose must be avoided. Any occurrence arising out of and/or in connection with the said violation shall not be a scope of Webmaster's responsibilities.
For problems or questions regarding this web contact
Webmaster.
Last updated: 03-03-1998.